บทความทางกฎหมายโดยอัยการวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์ (๔ ตค ๒๕๖๖)
เด็ก ๑๔ ปี ทำผิดอาญาต้องรับโทษหรือไม่ ? *
เมื่อเร็วเร็วนี้.... ได้เกิดเหตุยิงกันในห้างสยามพารากอน ส่งผลให้มี ผู้เสียชีวิต ๓ ราย และได้รับบาดเจ็บ ๔ ราย ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมคนร้ายได้ เป็นเด็กชายอายุ ๑๔ ปี พร้อมอาวุธปืนแบงกัน (ดัดแปลง) ขนาด ๙ มม. ที่ใช้ก่อเหตุ มีรายงานแจ้งว่า สาเหตุที่เด็กอายุ ๑๔ ปี ก่อเหตุนั้น เนื่องจากเกิดจากอาการหูแว่ว มีคนสั่งให้ทำ จึงก่อเหตุกราดยิงดังกล่าว เบื้องต้นทราบว่า มีประวัติติดเกม ส่วนประวัติอาการทางจิตอยู่ระหว่างตรวจสอบ
ข่าวนี้ดังไปทั่วโลก จึงเกิดคำถามในสังคมว่า “อะไรเป็นสาเหตุให้เด็กคนดังกล่าวก่อเหตุรุนแรงได้เพียงนั้น” และ “อาวุธปืนที่ใช้ก่อเหตุเด็กได้มาอย่างไร” และ “เด็กมีสภาวะป่วยทางจิตหรือไม่” หรือ “เกิดจากผลพวงของการติดเกมที่ใช้ความรุนแรง” และท้ายที่สุด “ เด็กจะต้องรับผิดทางอาญา หรือไม่ อย่างไร ?
มาดู หลักกฎหมายในเรื่องนี้
๑. การที่เด็กมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนของกลางไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน (นายทะเบียนอาวุธปืน) ย่อมเป็นความผิดฐาน “ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต”ตาม พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗ ซึ่งมีโทษตามมาตรา ๗๒ จำคุกตั้งแต่ ๑ ปี ถึง ๑๐ ปี และปรับ ตั้งแต่ ๒,๐๐๐ บาท ถึง ๒๐,๐๐๐ บาท
๒. จากนั้น เด็ก ได้นำอาวุธปืนดังกล่าวไปยังห้างพารากอน ซึ่งเป็นเมือง หมู่บ้าน ทางสาธารณะ จึงเป็นความผิดฐาน “พาอาวุธปืนไปในเมืองหมู่บ้านทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต ฯ และโดยไม่มีเหตุอันควร” อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๘ ทวิ ซึ่งมีโทษตามาตรา ๗๒ ทวิ จำคุกไม่เกิน ๕ ปี หรือปรับไม่เกิน๑๐,๐๐๐ บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ
โดยมีเงื่อนไขว่า “อาวุธปืนของกลาง ต้องส่งไปตรวจพิสูจน์ที่ สำนักงานพิสูจน์หลักฐาน แล้วผลการตรวจพิสูจน์ปรากฏผลว่า “ อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๔
๓. จากนั้น การที่เด็ก ๑๔ ปี นำเอา อาวุธปืนของกลางไปใช้ยิงผู้อื่นจนเป็นเหตุให้มีผู้ถึงแก่ความตาย และ กรณีผู้ถูกยิงแต่ไม่ตาย ย่อมเป็นความผิดฐาน
๓.๑ “ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๒๘๙ (๔) ซึ่งมีโทษ “ ประหารชีวิต”
ศาลฎีกาได้เคยวางหลักไว้ว่า “ การฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน” หมายความว่าก่อนทำการฆ่า ผู้กระทำผิดได้คิดไตร่ตรอง ทบทวนแล้วจึงตกลงใจกระทำความผิด ไม่ใช่กระทำไปโดยปัจจุบันทันด่วนเพราะเมาสุราหรือบันดาลโทสะ การไตร่ตรองไว้ก่อนเป็นเหตุเกี่ยวกับเจตนาส่วนตัวของผู้กระทำผิด
๓.๒ กรณี “ผู้ถูกยิงไม่ตาย” ก็จะเป็นความผิดฐาน “ พยายามฆ่าผู้อื่น” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ , ๘๐ ต้องระวางโทษ สองในสามส่วน ของโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ( คือ จําคุกตลอดชีวิต (ฎ.๔๙๒๐/๒๕๓๑)
๓.๓ การใช้อาวุธปืนซึ่งใช้ดินระเบิดก่อเหตุยิงในห้างพารากอน ย่อมเป็นความผิดฐาน “ ยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุ ในเมืองหมู่บ้าน หรือที่ชุมนุมชน” ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ วัน หรือปรับไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๗๖
ความผิดตามข้อ ๓.๓ (ยิงปืนโดยใช้ดินระเบิด) เป็นการกระทำผิดกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทกับความผิดตามข้อ ๓.๑ และ ๓.๒ (ฆ่าโดยไตร่ตรอง กับ พยายามฆ่า) ซึ่งศาลจะลงโทษบทหนัก คือ “ฆ่าโดยไตร่ตรอง”
หากเหตุการณ์เดียวกันนี้ ผู้ก่อเหตุเป็นผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ ๑๘ ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ผู้กระทำจะต้องได้รับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติดังกล่าว (อาจได้รับโทษถึงขั้นประหารชีวิตได้)
แต่เนื่องจากผู้ก่อเหตุในคดีนี้เป็นเด็กอายุ ๑๔ ปี ซึ่งมีกฎหมายบัญญัติเป็นอย่างอื่น
กล่าวคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๔
"มาตรา ๗๔ เด็กอายุกว่าสิบสองปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ ให้ศาลมีอำนาจ ที่จะดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(๑) ว่ากล่าวตักเตือนเด็กนั้นแล้วปล่อยตัวไป และถ้าศาลเห็นสมควร จะเรียกบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือนด้วยก็ได้
(๒) ถ้าศาลเห็นว่า บิดา มารดา หรือผู้ปกครองสามารถดูแลเด็กนั้นได้ ศาลจะมีคำสั่งให้มอบตัวเด็กนั้นให้แก่บิดา มารดา หรือผู้ปกครองไป โดย วางข้อกำหนดให้บิดา มารดา หรือ ผู้ปกครองระวังเด็กนั้นไม่ให้ก่อเหตุร้ายตลอดเวลาที่ศาลกำหนดซึ่งต้องไม่เกินสามปี และกำหนดจำนวนเงิน ตามที่เห็นสมควรซึ่งบิดา มารดา หรือผู้ปกครองจะต้องชำระต่อศาลไม่เกินครั้งละหนึ่งหมื่นบาทในเมื่อเด็กนั้นก่อเหตุร้ายขึ้น
(๓) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังสถานศึกษา หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานแนะนำทางจิต หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก ตลอดระยะเวลาที่ศาลกำหนด แต่ไม่ให้เกินกว่าวันที่เด็กนั้นจะมีอายุครบสิบแปดปี ฯ
จะเห็นได้ว่า กรณีเด็ก ๑๔ ปี(ยังไม่เกิน ๑๕ ปี) ก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงในห้างพารากอน จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับอันตรายสาหัส แต่กลับ ไม่ได้รับโทษ ตามพฤติการณ์ที่กระทำและตามบทกฎหมายดังกล่าว (ดังเช่นกรณีผู้ใหญ่กระทำผิดซึ่งมีโทษถึงขั้นประหารชีวิต)
แต่กลับให้ ศาลอาจกำหนดมาตรการ อย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๗๔ ( ว่ากล่าวตักเตือนฯ, วางข้อกำหนด, ส่งตัวไปฝึกอบรมฯ) แทนการลงโทษทางอาญา
นอกจากนี้ กรณี “เด็ก” และ “เยาวชน”กระทำผิดยังมีพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. ๒๕๕๓ มาคุ้มครองอีก กล่าวคือ
มาตรา ๑๓๒ ในกรณีที่ศาลเห็นว่า “ ตามพฤติการณ์แห่งคดียังไม่สมควรจะมีคําพิพากษา เมื่อศาลสอบถาม ผู้เสียหายแล้ว
๑. ศาลอาจมี “ คําสั่งให้ปล่อยตัวจําเลยชั่วคราว” แล้วมอบตัวจําเลยให้บุคคลดังกล่าวโดยไม่มีประกันหรือมีประกันหรือมีประกันและหลักประกันด้วยก็ได้โดยกําหนดเงื่อนไข แต่ต้อง ไม่เกินกว่า จําเลยนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูณ์
๒. ในกรณีศาลเห็นว่า จําเลยไม่สมควรใช้วิธีการตามวรรคหนึ่ง ศาลจะส่งตัวจําเลยไปยังสถานพินิจ หรือ สถานที่อื่นที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมาย และตามที่ศาลเห็นสมควรที่ยินยอมรับตัวจําเลยไว้ดูแลชั่วคราว หรือ จะให้ใช้วิธี การสําหรับเด็กและเยาวชนไปพลางก่อนก็ได้แต้ต้อง ไม่เกินกว่าจําเลยนั้นมีอายุครบยี่สิบสี่ปีบริบูรณ์
๓. เมื่อ จําเลยได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขและภายในระยะเวลาที่ศาลกําหนดตามมาตรา ๑๓๒ แล้วให้ศาล “สั่งยุติคดี” โดยไม้ต้องมีคําพิพากษาเกี่ยวกับการกระทําความผิดของจําเลย เว้นแต่่ คําสั่งเกี่ยวกับของกลาง และ ให้ถือว่า “สิทธินําคดีอาญามาฟ้องเป็นอันระงับ” ถ้าจําเลยผิดเงื่อนไขตามมาตรา ๑๓๒ ก็ให้ศาล “ยกคดีขึ้นพิจารณาพิพากษา” ต่อไป
จะเห็นได้ว่า ในกรณีที่ “เด็ก” (อายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์) และ “ เยาวชน”(อายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์) กระทำผิดอาญา ศาลอาจจะยังไม่มีคำพิพากษาตัดสินคดีที่เด็กกระทำผิดก็ได้ แต่ศาลอาจใช้วิธี “ส่งตัวเด็กและเยาวชนไป สถานพินิจ แทน” , หรือ “ กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยปฏิบัติตาม และหากจำเลยสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้สำเร็จ ศาลก็จะสั่งยุติคดี โดยไม่ต้องมีคำพิพากษา แต่ถ้าจำเลยทำไม่สำเร็จ หรือทำผิดเงื่อนไข ศาลก็จะหยิบยกคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่ต่อไป
เหตุที่ “เด็ก” และ” เยาวชน”กระทำผิดอาญา แต่กลับไม่ได้รับโทษทางอาญา ไม่ว่าจะเป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา และ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. ๒๕๕๓ ดังกล่าวแล้ว
ทั้งนี้ ก็เนื่องจากประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนแล้ว รวมถึง อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Right of the Child = CRC) ซึ่งเป็น” สิทธิสากล” (Universal Rights) และเป็น “ สิทธิเด็ดขาด” (Absolute Rights) ซึ่งมีหลักการ” มุ่งแก้ไขมากกว่าการลงโทษ” มุ่งคุ้มครองเด็กและเยาวชน
สำหรับกรณี เด็ก ๑๔ ปีก่อเหตุใช้อาวุธปืนยิงในห้างพารากอนดังกล่าว ยังมีประเด็นที่จะพิจารณาเรื่อง “ขณะกระทำผิดมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือจิตฟั่นเฟือนหรือไม่” ด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๖๕
ผู้ใด กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิต หรือ จิตฟั่นเฟือน ผู้นั้น “ไม่ต้องรับโทษ” สำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้า ผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้น ต้องรับโทษ สำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
จะเห็นได้ว่า เด็ก ๑๔ ปี ใช้อาวุธปืนยิงในห้างพารากอนจนมีผู้เสียชีวิต นอกจาก เด็ก ๑๔ ปีจะยังไม่ต้องรับโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๔ แล้ว ยังอาจไม่ต้องรับโทษตามมาตรา ๖๕ หากได้ความว่า เด็ก ๑๔ ปี กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน แต่ศาลอาจกำหนดมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา ๗๔ หรือ อาจใช้ วิธีการตาม พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัวพ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๓๒ แทนการมีคำพิพากษา
ถึงเวลาหรือยังที่จะทบทวนเรื่อง “ เด็กกระทำผิด” ?
หากจะมองในแง่การคุ้มครองเด็กก็เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวคุ้มครองเด็กกระทำผิด
แต่หากจะมองใน “ฝ่ายผู้สูญเสีย/ผู้เสียหาย” ในหลายคดีที่เด็กกระทำผิด เช่นไปฆ่าเขาตาย ใช้อาวุธปืน ใช้อาวุธมีดแทงเขาตาย หรือ ไปข่มขืนผู้หญิง ( รวมถึงเด็ก และผู้อ่อนแอกว่า) เกิดความสูญเสีย เกิดความเสียหายที่ยากจะแก้ไข ยากจะเยียวยา ไม่อาจย้อนคืนกลับมาได้ แต่เด็กกลับไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษเพียงส่งตัวไปสถานพินิจ ไปฝึกและอบรม เทียบไม่ได้กับความสูญเสียและความเสียหายที่เกิดแก่ผู้เสียหาย
หากคุ้มครองเด็ก มากเกินไป ผู้เสียหายย่อมถูกกระทบสิทธิมากเท่านั้น
แต่ถ้าคุ้มครองเด็กน้อยไป ก็อาจส่งผลต่อเด็กและเยาวชนที่จะเติบโตไปในอนาคต
การรักษาดุลภาคระหว่าง “ การคุ้มครองเด็ก” กับ “ การแก้ไขเยียวยาผู้เสียหาย” จึงเป็นประเด็นที่ผู้เขียนได้เคยนำเสนอผ่าน “ รายงานการศึกษาอิสระ เรื่อง ดุลพินิจกำหนดโทษเด็กและเยาวชน” เสนอต่อ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ( คณะนิติศาสตร์ การศึกษาระดับมหาบัณฑิต) ปีการศึกษา ๒๕๔๕ โดยนำเสนอ “ หลักการกระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์” มาแก้ปัญหา
“ จำเลยรู้สำนึกในการกระทำผิดพร้อมจะแก้ไขการกระทำผิด/ ผู้เสียหายยินยอมและให้อภัย/ สังคมชุมชนเข้ามาช่วยควบคุมการแก้ไขความประพฤติ”
“ หลักสัดส่วน” ( ความรุนแรงในการกระทำผิด กับ หลักการเยียวยา ต้องได้สัดส่วน)
และ ศาลต้องไม่ถูกจำกัด “ดุลพินิจกำหนดโทษเด็กและเยาวชน”
• นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
อดีต รองประธานคณะอนุกรรมาธิการการศึกษาการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมายการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร
No comments:
Post a Comment