จุดจบ...คนกินเด็ก *
สืบเนื่องจาก “ ข่าวอดีตนักมวยชื่อดังกับเด็กวัย ๑๗ ปี” โดยสังคมมีความเห็นเป็นสองทาง ทางหนึ่งบอกว่า “อดีตนักมวยติดคุกแน่แน่ เพราะดันไปกินเด็ก ๑๗ ปี” แต่อีกฝ่ายบอกว่า “อดีตนักมวยรอดเพราะสำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุเด็ก”
ความจริง เรื่องแบบนี้ไม่ใช่ว่า เพิ่งจะเกิด หรือเป็นคดีแรก หากแต่เคยเกิดคดีแบบนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งที่เป็นข่าวและไม่เป็นข่าว เช่น
อดีต ส.ว ถูกกล่าวหาว่า “ ซื้อบริการทางเพศจากเด็กอายุต่ำกว่า ๑๕ ปี เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๕๕๐ ศาลฎีกา มีคำพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ให้จำคุก อดีต ส.ว ๓๖ ปี และ ถูกจำคุกที่เรือนจำกลางคลองเปรม ต่อมาได้รับการพระราชทานอภัยโทษให้คงเหลือโทษจำคุก ๕ ปี
ในปี พ.ศ. ๒๕๕๖ เขาได้รับการพักโทษ เนื่องจากเข้าหลักเกณฑ์จำคุกเกิน ๒ ใน๓ และเป็นนักโทษชรา
และเร็วเร็วนี้ ก็มีคดี อดีต สว. , นักการเมืองพรรคดัง, อดีต ผอ. สำนักงานพระพุทธศาสนาถูก ออกหมายจับ “ คดีซื้อบริการเด็กสาววัย ๑๕ ปี ถูกแม่ชาวเมียนมา พาไปขายบริการทางเพศใน รีสอร์ตแห่งหนึ่งใน พื้นที่ อ.บ้านหมอ จังหวัดสระบุรี
มาดูกันว่า... กฎหมายในเรื่องนี้มีอย่างไรบ้าง ?
- ตาม พ.ร.บ ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. ๒๕๔๓ มาตรา ๔ :
“เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุไม่เกิน ๑๕ ปี บริบูรณ์
“เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกิน ๑๕ ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปี บริบูรณ์
- ตาม พ.ร.บ คุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ :
“เด็ก” หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบุูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส
คราวนี้มาดูกันว่า หากกระทำผิดทางเพศกับ “เด็ก” และ “เยาวชน” ตามประมวลกฎหมายอาญา จักต้องได้รับโทษอย่างไรบ้าง ?
“ พรากผู้เยาว์อายุกว่า ๑๕ ปีแต่ยังไม่เกิน ๑๘ ปี โดยผู้เยาว์ไม่เต็มใจ”
มาตรา ๓๑๘ ผู้ใด พรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าการ “พรากผู้เยาว์ฯ” นั้น เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงสามหมื่นบาท
แต่ถ้าผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย :
มาตรา ๓๑๙ ผู้ใด พรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือ เพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท
มีข้อสังเกตว่า - ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ เป็นความผิดต่ออำนาจการปกครองดูแลบิดามารดา ผู้ปกครองดูแลผู้เยาว์ และเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้
คราวนี้มาดูว่า เมื่อ พรากผู้เยาว์ (ตัดอำนาจผู้ปกครองดูแล) มาแล้วก็ต้อง พาผู้เยาว์ไป
มาตรา ๒๘๓ ทวิ- ผู้ใด พาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคแรกเป็นการกระทำแก่ เด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ความผิดตามวรรคแรก เฉพาะกรณีที่กระทำแก่ บุคคลอายุเกินสิบห้าปีเป็นความผิดอันยอมความได้
มาตรา ๒๘๔ ผู้ใด พาผู้อื่น ไปเพื่อการอนาจาร โดยใช้อุบายหลอกลวง ขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย ใช้อำนาจครอบงำผิดคลองธรรม หรือใช้วิธีข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
ความผิดตามมาตรานี้ เป็นความผิดอันยอมความได้
มีข้อสังเกต คือ - ความผิดฐาน พาไปเพื่อการอนาจาร (โดยเต็มใจ มาตรา ๒๘๓ ทวิ หรือ โดยไม่เต็มใจ มาตรา ๒๘๔ ) เป็นความผิดที่กระทำกับ ผู้อื่น , บุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ไม่เกินสิบห้าปี และ เป็นความผิดอันยอมความได้ เมื่อยอมความได้ก็ถอนคำร้องทุกข์ได้
ซึ่งแตกต่างจากความผิดฐาน “พรากผู้เยาว์ หรือ บุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี” ซึ่งยอมความไม่ได้
เมื่อ “พราก” มาได้แล้ว ก็ “พาไป” เพื่อการอนาจาร จากนั้นก็ “กระทำชำเรา” หรือ “กระทำอนาจาร”
มาตรา ๒๗๘ ผู้ใด กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ข้อสังเกต – การกระทำอนาจาร หมายถึง การกระทำที่ไม่สมควรทางเพศ เช่น กอดจูบลูบคลำ
มาตรา ๒๘๑ การกระทำความผิดตามมาตรา ๒๗๖ วรรคแรก (ข่มขืนกระทำชำเรา) และมาตรา ๒๗๘ (อนาจารแก่บุคคลอายุกว่า ๑๕ ปี ) ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา ๒๘๕ เป็นความผิดอันยอมความได้
หากล่วงเลยถึงขั้น “กระทำชำเรา” หรือ “ข่มขืนกระทำชำเรา” :
มาตรา ๒๗๘ – ผู้ใด กระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่าสิบห้าปี โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยบุคคลนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ หรือโดยทำให้บุคคลนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท
มาตรา ๒๗๖ ผู้ใด ข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น โดยขู่เข็ญด้วยประการใด ๆ โดยใช้กำลังประทุษร้าย โดยผู้นั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้หรือโดยทำให้ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสี่แสนบาท
มีข้อสังเกตุ - “ กระทำชำเรา” หมายถึง กระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำ โดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำล่วงล้ำ อวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือ ช่องปากของผู้อื่น
คราวนี้มาดูข้อหา หรือฐานความผิดที่ อดีตนักมวย ถูกพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา
๑.ร่วมกันพรากผู้เยาว์เด็กอายุเกิด ๑๕ ปี แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ปี
๒. ร่วมกันพาบุคคลอายุ ๑๕ ปี แต่ยังไม่ถึง ๑๘ ไปเพื่อการอนาจาร
๓. กระทำอนาจารเด็กอายุ ๑๕ ปีโดยใช้กำลังประทุษร้าย
๔. พยายาม ข่มขืนผู้อื่นโดยใช้กำลังประทุษร้าย
ตามข่าว อดีตนักมวย ปฏิเสธว่า “ไม่รู้ว่าเด็กอายุ ๑๗ ปี” การปฏิเสธว่า ไม่รู้ว่าเด็กจะอายุ ๑๗ ปี จะทำให้ อดีตนักมวยรอดหรือไม่รอด เป็นประเด็นที่สังคมมีความเห็นเป็นสองทาง คือ “ รอดคุก หรือ ไม่รอดคุก”
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๕๙ – บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทํา โดยเจตนา เว้นแต่ จะ
ได้กระทําโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทําโดยประมาท หรือเว้นแต่
ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทําโดยไม่มีเจตนา
กระทําโดยเจตนา ได้แก่ กระทําโดยรู้สํานึกในการที่กระทําและในขณะเดียวกัน
ผู้กระทําประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น
ถ้าผู้กระทํา มิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทํา
ประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทํานั้น มิได้
ดังนั้น หากผู้กระทำ ไม่รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบความผิด ก็ต้องถือว่า ผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำผิด และเมื่อผู้กระทำไม่มีเจตนากระทำผิด การกระทำของผู้กระทำก็ไม่เป็นความผิดตามกฎหมายอาญา
ฉะนั้น ไม่ว่า จะเป็นความผิดฐาน “ พราก” หรือ “พา” “กระทำอนาจาร” และ “ข่มขืนกระทำชำเรา” ตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น อายุของผู้ถูกกระทำ (ผู้เสียหาย) เกินสิบห้าปี แต่ไม่เกินสิบแปดปี จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ (องค์ประกอบความผิด) ซึ่งผู้กระทำจะต้องรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าวด้วย
การกล่าวอ้างว่า “สำคัญผิดในข้อเท็จจริง”
มาตรา ๖๒ ข้อเท็จจริงใด ถ้ามีอยู่จริงจะทำให้การกระทำไม่เป็นความผิด หรือทำให้
ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มีอยู่จริง แต่ผู้กระทำสำคัญผิดว่า
มีอยู่จริง ผู้กระทำย่อมไม่มีความผิด หรือได้รับยกเว้นโทษ หรือได้รับโทษน้อยลง แล้วแต่กรณี
ถ้าความไม่รู้ข้อเท็จจริงตามความในวรรคสามแห่งมาตรา ๕๙ หรือความสำคัญผิดว่า
มีอยู่จริงตามความในวรรคแรก ได้เกิดขึ้นด้วยความประมาทของผู้กระทำความผิด ให้ผู้กระทำรับผิด
ฐานกระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะว่า การกระทำนั้นผู้กระทำจะต้องรับ
โทษแม้กระทำโดยประมาท
บุคคลจะต้องรับโทษหนักขึ้นโดยอาศัยข้อเท็จจริงใด บุคคลนั้นจะต้องได้รู้ข้อเท็จจริงนั้น
ทั้งนี้ การอ้างว่า “ ไม่รู้ข้อเท็จจริงว่า เด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี” หรือ ต่อสู้ว่า “ รู้ข้อเท็จจริงแต่สำคัญผิด” มีคำพิพากษาของศาลฎีกาทั้งสองแนว คือ
จำเลยจะต่อสู้ว่าไม่รู้ข้อเท็จจริงก็ได้ หรือจำเลยจะต่อสู้ว่าสำคัญผิดในข้อเท็จจริงก็ได้ หรือจำเลยจะต่อสู้ทั้งสองกรณีไปพร้อมกันเลยก็ได้
ฎีกาที่ ๙๒๘๕/๒๕๕๖ เมื่อจำเลยสำคัญผิดว่าผู้เสียหายพ้นวัยผู้เยาว์ โดยเข้าใจว่าผู้เสียหายมีอายุเกินกว่า ๑๘ปี แล้ว จึงเป็นการ สำคัญผิดในข้อเท็จจริงเรื่องอายุอันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๘ วรรคแรก การกระทำของจำเลยจึงขาดเจตนากระทำความผิดฐานดังกล่าวตาม ป.อ. มาตรา ๕๙ วรรคสาม
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๘๒๐ / ๒๕๔๙
ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์อายุกว่า ๑๕ ปี แต่ไม่เกิน ๑๘ ปี การที่จำเลยพาผู้เสียหายไปและกระทำชำเราผู้เสียหายโดยผู้เสียหายยินยอมนั้น จำเลยมิได้รับอนุญาตจากบิดามารดาและผู้ปกครองดูแลผู้เสียหาย จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๙ วรรคหนึ่ง
การพรากผู้เยาว์กฎหมายบัญญัติเป็นความผิดไม่ว่าผู้เยาว์จะเต็มใจไปด้วยหรือไม่ แม้ฟ้องโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๘ ก็ตาม แต่ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา ๓๑๙ วรรคหนึ่ง ที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๒ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และมาตรา ๒๒๕
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓ / ๒๕๖๔
ความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๗ วรรคสาม กฎหมายบัญญัติโดยมีความมุ่งหมายที่จะคุ้มครองอำนาจของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลผู้เยาว์ และปกป้องมิให้ผู้ใดมาก่อการรบกวนหรือกระทำการใดอันเป็นการกระทบกระทั่งต่ออำนาจปกครองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยปริยาย ผู้เยาว์แม้จะไปอยู่ที่แห่งใด หากบิดามารดา ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลยังดูแลเอาใจใส่อยู่ ผู้เยาว์ย่อมอยู่ในอำนาจปกครองดูแลของบิดา มารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแลตลอดเวลาโดยไม่ขาดตอน ทั้งเป็นการลงโทษผู้ที่ละเมิดต่ออำนาจปกครองของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล นอกจากนี้กฎหมายมิได้จำกัดคำว่า "พราก" โดยวิธีการอย่างใดและไม่ว่าผู้เยาว์จะเป็นฝ่ายเข้าไปในที่เกิดเหตุโดยมีผู้ชักนำหรือไม่มีผู้ชักนำ หากมีผู้กระทำต่อผู้เยาว์ในทางเสื่อมเสียและเสียหายย่อมถือได้ว่าเป็นความผิด
การที่โจทก์ร่วมที่ ๒ ซึ่งอาศัยอยู่กับโจทก์ร่วมที่ ๑ ไปเล่นภายในบ้านของจำเลย ไม่ว่าโจทก์ร่วมที่ ๒ จะเข้าไปเองหรือจำเลยชักชวนหรือพาเข้าไป เมื่อโจทก์ร่วมที่ ๒ ถูกจำเลยกระทำอนาจารโดยใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยดังกล่าวทำให้อำนาจปกครองดูแลของโจทก์ร่วมที่ ๑ ซึ่งเป็นมารดาย่อมถูกตัดขาดพรากไปโดยปริยาย ถือได้ว่าเป็นการพาและแยกโจทก์ร่วมที่ ๒ ไปจากความปกครองดูแล และล่วงละเมิดอำนาจปกครองของโจทก์ร่วมที่ ๒ ซึ่งเป็นมารดา เป็นความหมายของคำว่า” พราก” แล้ว การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามมาตรา ๓๑๗ วรรคสาม
คดีหมายเลขดำที่ ๑๓๔๗/ ๒๕๔๔ ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำพิพากษา โดยพิพากษาให้ลงโทษ นาย ฉ. (อดีต ส.ว) จำเลย ฐานกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกิน ๑๕ ปี ( คดีนี้เด็กอายุ ๑๔ ปี) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๗ วรรคแรก รวม ๔ กระทง ให้จำคุกกระทงละ ๔ ปี รวมเป็นจำคุก ๑๖ ปี
ต่อมา โจทก์ร่วมทั้ง ๕ และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๒ ตรี วรรคสอง และมาตรา ๓๑๗ วรรค ๓ ด้วย ฐานพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร ตามมาตรา ๓๑๗ วรรค ๓ มีความผิดเพิ่มขึ้นอีก ๔ กระทง ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ให้จำคุกกระทงละ ๕ ปี รวมเป็น ๒๐ ปี เมื่อรวมโทษทั้งสิ้นแล้ว ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ให้จำคุก ๓๖ ปี
ต่อมา ศาลฎีกาพิพากษาแก้ ให้ “ยกฟ้อง” ข้อหาความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๑๒ ตรี วรรค ๒ ( ผู้ใดโดยทุจริตรับไว้ จำหน่าย เป็นธุระจัดหา ล่อไป หรือพาไปซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี แม้ผู้นั้นจะยินยอมก็ตาม) นอกจากที่แก้ ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ คือ ให้จำคุก ๓๖ ปี
มาถึงบรรทัดนี้ อดีตนักมวย จะรอดคุก หรือ ไม่รอดคุก ขึ้นอยู่กับ ข้อเท็จจริงแห่งคดี ซึ่งจะได้จากการให้การของเด็ก ๑๗ ปี ซึ่งเป็นผู้เสียหาย , เพื่อนผู้เสียหายที่มาด้วยในวันเกิดเหตุ, ภาพจากกล้องวงจรปิดทั้งที่สถานบันเทิง , ที่โรงแรมทีเกิดเหตุ, การ์ดสถานบันเทิงที่ตรวจบัตรประชาชนของผู้เสียหายกับเพื่อน., DNA บนเสื้อผ้าเนื้อตัวร่างกายของเด็ก ๑๗ ปี และบนเสื้อผ้าเนื้อตัวร่างกายของอดีตนักมวยและ ที่เตียงนอน และแพทย์ผู้ตรวจร่างกายของเด็ก ๑๗ ปี ( มีประเด็นโต้แย้งกันว่า ถูกล่วงละเมิดทางเพศหรือไม่) ฯลฯ
ความผิดฐาน “ พรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือ เพื่อการอนาจาร ไม่ว่า ผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย หรือไม่เต็มใจไปด้วย ก็เป็นความผิดแล้ว และเป็นการกระทำกับอำนาจบิดา มารดา ผู้ปกครองดูแล และยอมความไม่ได้ ( แม้จะตกลงยอมความกันและไม่ติดใจเอาความก็ตาม ก็เป็นความผิดตามกฎหมายแล้วและไม่สามารถยอมความกันได้” )
คงไม่มี บิดามารดาผู้ปกครองดูแลเด็กคนใด อนุญาตหรือยินยอมให้ บุตร ผู้อยู่ในปกครองดูแลให้ไปถูกล่วงละเมิดทางเพศเป็นแน่แท้
ส่วนความผิดฐาน “ พาบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี ไปเพื่อการอนาจาร แม้ผู้นั้นจะยินยอม หรือ ไม่ยินยอมก็ตาม” เป็นความผิดต่อ เด็ก ๑๗ ปี สามารถยอมความได้
ความผิดฐาน “กระทำชำเราฯ” นั้น ถ้ามิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล ไม่เป็นเหตุให้ผู้ถูกกระทำรับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย หรือมิได้เป็นการกระทำแก่บุคคลดังระบุไว้ในมาตรา ๒๘๕ เป็นความผิดอันยอมความได้
แม้จะกล่าวอ้างว่า “ไม่รู้ว่าเด็กมีอายุ ๑๗ ปี” แต่ศาลจะเชื่อ หรือไม่เชื่อคงต้องว่ากันในชั้นศาล แต่ที่แน่แน่ “จุดจบของคนชอบกินเด็ก”
“ อร่อยตอนกิน แต่พอกินเสร็จอาจเกิดอาการแสลง และท้องเสียได้”
“ กินเด็กวันนี้ อาจเกิดแผลงฤทธิ์ในอนาคตได้”
· นายวรเทพ สกุลพิชัยรัตน์
อัยการศาลสูงจังหวัดสมุทรปราการ
อดีต รองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการปฎิรูปกระบวนการยุติธรรม (คนที่สอง) ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในสภาผู้แทนราษฎร
No comments:
Post a Comment